WWF-Thailand หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (สำนักงานประเทศไทย) จับมือกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้โครงการ Plastic Smart Cities และรับทราบข้อมูลสำหรับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรม
จากการที่เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ WWF (World Wide Fund for Nature International) โครงการ Plastic Smart Cities ในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยมีเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 ในพื้นที่ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครสงขลา เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และเทศบาลนครเกาะสมุยแล้วนั้น
ในวันนี้ นางสาวณภัค อังควราธนัท ผู้อำนวยการโครงการ Plastic Smart Cities พร้อมด้วย Ms. Yumi Nishikawa Plastic Smart Cities project lead for the Southeast Asia, WWF , Mr. Andy Whiteman Director, RWA Group , และนางเบญจวรรณ ธีระกุล ผู้ประสานงานโครงการ Plastic Smart Cities เข้าพบหารือร่วมกับคณะผู้บริหารเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บขยะและการจัดการขยะ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการพลาสติกที่ผ่านมา ตลอดจนนโยบายและเทศบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติก เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญแหล่งทุน ใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมที่วางแผนไว้ก่อนที่จะดำเนินการในพื้นที่ และหารือเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้โครงการ Plastic Smart Cities เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งในการนี้ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ได้มอบหมายให้นายสัมฤทธิ์ บุญรัตน์ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นายสมัคร ใจเอ็นดู ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและชี้แจงข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทางคณะได้รับทราบ
หลังจากนั้นทางคณะฯ ได้เดินทางไปสำรวจดูพื้นที่เพื่อจัดทำศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery Facility : MRF) ในการส่งเสริมการคัดแยกและยกระดับคุณภาพขยะ มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางให้กับทางเทศบาลนครหาดใหญ่ ณ โรงฆ่าสัตว์(เก่า) ดูการคัดแยกขยะและรีไซเคิลบ้านครูต๋อย และโรงงานแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า GDEC ซึ่งเป็นโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย โดยแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับโครงการ Plastic Smart Cities ดังกล่าว เน้นการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การจัดการตามหลักวิชาการภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน โรงเรียน ภาคประชาสังคมทุกกลุ่ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งโครงการยังให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบของพื้นที่ฝังกลบขยะในแต่ละแห่งด้วย