วันเสาร์, 17 พฤษภาคม 2568

มรภ.สงขลา ติวครู รร.ตชด. ฝึกเขียนผลงานทางวิชาการและประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ “Best Practice”ปูทางสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเยาวชนพื้นที่ห่างไกล

      สถาบันวิจัยฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมเขียนผลงานทางวิชาการและประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) โรงเรียน ตชด. เทียบเชิญวิทยากรถ่ายทอดความรู้ พร้อมให้แนวทางที่ถูกต้อง หวังช่วยเพิ่มโอกาสเผยแพร่ผลงานในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ ปูทางสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้มีมาตรฐานสูงขึ้น
     สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเขียนผลงานทางวิชาการและประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” ให้แก่ครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดกองกำกับการ ตชด. ที่ 43 จำนวน 32 คน ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา ภายใต้โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ตชด. โดยมี อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจาก พ.ต.ท.วิษณุ ชนะอักษร รองผู้กำกับการ ตชด. ที่ 43 พบปะพูดคุยกับผู้เข้ารับการอบรม วิทยากรโดย ผศ.ชนกพร ธีระกุลคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ด.ต.โกศล แก้วมณี โรงเรียน ตชด. สันติราษฏร์ประชาบำรุง และ ด.ต.หญิงหัสติยา ดำสงฆ์ กองกำกับการ ตชด. ที่ 43
      การจัดอบรมในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และแนวทางที่ถูกต้องในการเขียนผลงานทางวิชาการ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศให้แก่ครูผู้สอนในโรงเรียน ตชด. ซึ่งยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการฝึกอบรมที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ชนบท ดังนั้น การอบรมที่จัดขึ้นนี้จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยพัฒนางานวิชาการได้อย่างมีคุณภาพ และเพิ่มโอกาสในการเผยแพร่ผลงานในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการทำงานในสายวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริหารองค์กร การเขียนผลงานทางวิชาการเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้บุคลากรสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ นำเสนอผลการวิจัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 
       นอกจากนั้น การส่งผลงานเข้าประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ยังเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่และยกระดับมาตรฐานของกระบวนการทำงานในองค์กร สำหรับครูผู้สอนโรงเรียน ตชด. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาทักษะด้านการเขียนผลงานทางวิชาการเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถจัดทำเอกสารทางวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 
      ทั้งนี้ การจัดอบรมดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน