วันพุธ, 22 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา ผนึก ธ.ออมสิน มอบโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ Best of the Best “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น”

 
   วันที่ 10 มกราคม 2568 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ Best of the Best โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ ห้อง Presentation Room อาคาร 2 ชั้น 2 มรภ.สงขลา กล่าวต้อนรับโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวขอบคุณและแสดงความยินดี โดย นางสายใจ ไตรมงคลเจริญ

ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 18 ในการนี้ ธนาคารออมสินได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่อธิการบดี และทางมหาวิทยาลัยมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ นางเสาวณิต ศรีนุ่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน เพื่อแสดงความชื่นชมยินดีต่อรางวัลที่ได้รับ
สำหรับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ Best of the Best ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 ประเภทใช้ดี ผลิตภัณฑ์เซรั่มจากสารสกัดดอกกาแฟ เป็นผลงานของนักศึกษาทีม ROBUSTA ESSENCE คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การควบคุมดูแลของ ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ผศ.ดร.ภวิกา มหาสวัสดิ์ และ ดร.ธีรยุทธ ศรียาเทพ โดยได้ทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจนนำมาสู่รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท จากเวทีประกวดนำเสนอผลสัมฤทธิ์ เมื่อวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มรภ.สงขลา ได้เข้าร่วมโครงการกับธนาคารออมสิน ในการดำเนินงานกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้โครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562- ปัจจุบัน โดยบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษากับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้ชุมชน
ขณะเดียวกันนักศึกษาของ มรภ.สงขลา เกิดการเรียนรู้ เข้าใจในวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่า ทั้งยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาได้ตระหนักและรู้จักการรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ
กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน