เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ณัฐวุฒิ ขุนหลัด นักวิชาการเกษตร นำนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตรการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เข้าเรียนรู้พร้อมฝึกทักษะปฏิบัติการ ณ ศูนย์ควบคุมยางสงขลา กองการยาง กรมวิชาการเกษตร โดยบูรณาการการเรียนรู้กับรายวิชาพืชเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งศูนย์ควบคุมยางสงขลา เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตยางแผ่น การตรวจวัดคุณภาพน้ำยาง การทำยางเครป การจัดการแปลงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ยาง การติดตายาง การวางระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพาราเพื่อให้ได้คุณภาพน้ำยางที่ดี
ผศ.ดร.ศุภัครชา กล่าวว่า ยางพาราเป็นชนิดพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรกร คุณภาพของยางพาราและคุณภาพของน้ำยางที่ได้เป็นสิ่งสำคัญในการผลิตวัสดุที่ทำจากยางพาราที่มีคุณภาพ การปลูกยางพาราในภาคใต้ของประเทศไทยเป็นกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของพื้นที่ เนื่องจากภาคใต้มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกยางพารา ซึ่งต้องการอุณหภูมิสูงและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ การปลูกยางพารามักจะอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนสูงและดินที่อุดมสมบูรณ์ การปลูกยางพาราไม่เพียงแต่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ของเกษตรกรได้มากขึ้น
ดังนั้น การนำนักศึกษาไปศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน ณ ศูนย์ควบคุมยางสงขลา จึงเป็นการสร้างฐานการศึกษาที่ดี เพื่อให้สามารถเรียนรู้และปฏิบัติการในแปลงได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การได้น้ำยางพาราที่มีคุณภาพ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร มีการจ้างงานในพื้นที่ และสามารถส่งออกได้ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น และพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราให้ยั่งยืน และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสามารถเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายสรุศักดิ์ ยาเด็ง วิทยากรศูนย์ควบคุมยางสงขลา กล่าวว่า การตรวจคุณภาพน้ำยางพารามีความสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำยางมีคุณภาพดีและสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนั้น ยังช่วยให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและรักษามาตรฐานคุณภาพได้ ในการตรวจคุณภาพน้ำยางภายนอก น้ำยางควรมีสีขาวหรือสีขาวขุ่นและไม่มีสิ่งเจือปนหรือสารตกค้างที่ผิดปกติ น้ำยางไม่ควรมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นที่ผิดปกติ และตรวจสอบปริมาณของแห้งโดยใช้เครื่องมือในการวัดปริมาณของแห้ง (Dry Rubber Content, DRC) ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณยางที่เป็นสารที่มีค่าในน้ำยาง โดยปกติปริมาณของแห้งจะต้องอยู่ในช่วง 20-40% นอกจากนั้นควรตรวจสอบค่า pH ของน้ำยางซึ่งควรมีค่าอยู่ในช่วงที่เหมาะสม ประมาณ 6.0-7.0 และตรวจสอบความหนืดของน้ำยาง (Viscosity) เพื่อประเมินความเหนียวหนืด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตยางพารา