วันจันทร์, 30 กันยายน 2567

เทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT (7th IMT-GT Green Council Meeting)

21 ส.ค. 2024
42

วันนี้ (20 สิงหาคม 2567) จังหวัดสงขลา โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT (7th IMT-GT Green Council Meeting) ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดย MR. INDRA POMI NASUTION (ออร์นอราเบิล มิสเตอร์ อินดรา โพมี่ นาซูชั่น) เป็นประธานการประชุม พลตำรวจโท สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุม มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เทศบาลของไทย (44 เทศบาล) เทศบาลของอินโดนีเซีย (12 เทศบาล) เทศบาลของมาเลเซีย (11 เทศบาล) ผู้แทนระดับรัฐ/จังหวัด ใน IMT-GT ของรัฐและจังหวัด ทั้ง 3 ประเทศ, ผู้แทนจากส่วนกลาง (ฝ่ายไทย), ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาค แผนงาน IMT-GT และผู้แทนจากพันธมิตรเพื่อการพัฒนา เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมหารือ กำหนด และติดตามการดำเนินงานตามโครงการริเริ่มสีเขียวแผนงาน IMT-GT รวมถึงกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

สำหรับการประชุมสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT เป็นการติดตามความคืบหน้าของเมืองเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ/แผนงานเพื่อมุ่งสู่เมืองสีเขียว IMT-GT ภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (SUDF) เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับความคิดริเริ่มและโครงการสีเขียวที่มีศักยภาพในการสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว IMT-GT รวมทั้งพิจารณาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในเมือง IMT-GT ร่วมกับพันธมิตรเพื่อการพัฒนา และข้อเสนอในการเปิดตัวรางวัลเมืองสีเขียว IMT-GT

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานระดับท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค กระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุม ได้รับทราบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดี ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสีเขียว / สรุปโครงการริเริ่มเมืองสีเขียวร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศสมาชิก IMT-GT / สนับสนุนการบูรณาการในระดับอาเซียนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) / ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงพันธมิตรเพื่อการพัฒนา (Development Partnership) ในการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ IMT-GT ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สำหรับฝ่ายไทย ได้นำเสนอยุทธศาสตร์/แนวทางการดำเนินการ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมาย รายสาขา ภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองยั่งยืน แผนงาน IMT-GT 2024-2036 โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่มุ่งส่งเสริมการลดการใช้พลังงาน / การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม / ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและทุกกลุ่มเข้าถึงได้ / ส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน / ส่งเสริมการลดปริมาณขยะก่อนนำไปกำจัด / ส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ / ส่งเสริมการจัดการขยะอย่างถูกวิธี /ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมทุกประเภทในเมือง / ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง / การส่งเสริมโครงการ/กิจกรรมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง เป็นต้น

พลตำรวจโท สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้ง 3 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย) โดยฝ่ายอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม มีรองประธานจากประเทศมาเลเซีย เพื่อประชุมแผนงาน IMT-GT ทั้งหมด 7 สาขา ภายใต้กรอบการดำเนินงาน เป้าหมายวัตถุประสงค์ เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสีเขียวระหว่างพันธมิตร ที่มุ่งเน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มเป้าหมายจาก 44 เทศบาลของภาคใต้ รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีเป้าหมายการขับเคลื่อนที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการลดโลกร้อนหรือคาร์บอนเครดิต ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตนพร้อมจะผลักดันสู่การประชุมระดับจังหวัด และจะนำเสนอแผนไปยังรัฐบาล ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมกันอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ด้าน รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวเสริมว่า การประชุมข้างต้น โดยได้พูดคุยทั้งหมด 7 สาขา โดยเรื่องหลักในประเด็นของการขับเคลื่อนให้เป็นเมืองสีเขียว เริ่มตั้งแต่เรื่องของการศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการปัญหาขยะ การพัฒนาพลังงานสะอาด สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ (SDGs) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือ ปัญหาภาวะโลกร้อน นับเป็นปัญหาใหญ่ระดับภูมิภาคที่มีประชากรนับล้านคน โดยรัฐและจังหวัด ทั้ง 3 ประเทศ เป็นองค์กรที่จะขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นภารกิจของท้องถิ่นเราที่จะต้องเรียนรู้จากอีกเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง เพื่อร่วมกันแก้ไขโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม“ เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังของท้องถิ่นของทั้ง 3 ประเทศ

.