วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

ยิ่งใหญ่ ! งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ มรภ.สงขลา “ตำนานโนรา เบญจคีตาทักษิณาดุริยางค์” สืบสานรากเหง้าวัฒนธรรมคู่ท้องถิ่นภาคใต้

       เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี พ.ศ. 2567 “ตำนานโนรา เบญจคีตา ทักษิณาดุริยางค์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-4 สิงหาคม 2567 ณ บริเวณรอบเกาะลอย มรภ.สงขลา ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กล่าวรายงานโดย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วัตถุประสงค์เพื่อผลักดันศิลปะและวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การผลักดันให้เป็น Soft Power ด้านเทศกาลประจำปีของ จ.สงขลา และช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไฮไลท์สำคัญของงานนี้ คือการแสดงของมโนราห์ 1,072 คน พร้อมนักดนตรีพื้นบ้านกว่า 100 คน ท่ามกลางแสงสีเสียงตระการตา  

          นอกจากนั้น ยังมีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะ วางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ได้มีการจัดพิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง พ่อพลายแก้ว แม่พังงา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาว มรภ.สงขลา และชาว ต.เขารูปช้าง โดยมี ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในพิธีบวงสรวง

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นรากเหง้าของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีวัฒนธรรมซึ่งแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชุมชนและประเทศชาติ วัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของอารยธรรม ซึ่งหมายถึง ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี วัฒนธรรมและอารยธรรมพื้นถิ่น เป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนท้องถิ่นและสังคมชาติ ในกระแสแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้วัฒนธรรมและอารยธรรมนานาชาติหลั่งไหลและแทรกซึมเข้าถึงกันอย่างรวดเร็ว สถาบันการศึกษาจึงต้องเป็นสถาบันหลักในการธำรงรักษาวัฒนธรรม และอารยธรรมของชาติ พร้อมทั้งหาแนวทางในการส่งเสริมให้เลือกปรับเปลี่ยนอย่างชาญฉลาดในการรักษาความเป็นชุมชน สังคมชาติ และพัฒนาชีวิตอย่างสอดคล้องกับสังคมโลก

           การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2567 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ร่วมกันศึกษา ทะนุบำรุง และส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมอย่างหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึง วิถีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาอย่างยาวนานจนเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนภาคใต้ เช่น วัฒนธรรมด้านอาหาร การแสดงพื้นบ้าน โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า และอื่น ๆ อันจะเป็นช่องทางให้นักศึกษาและประชาชนได้มองเห็นช่องทางในการเลือกสรรนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยอาศัยศาสตร์พระราชา ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งจะสร้างความสุขและความอยู่ดีกินดี ธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม รุ่งเรืองด้วยอารยธรรมพื้นถิ่น โดยการสืบสานสร้างสรรค์ วัฒนธรรมของชาติเป็นพื้นฐาน