เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับศูนย์ข้าวชุมชนป่าชิง จะณะแบ่งสุข และภาคีเครือข่าย จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในงาน “วันข้าวลูกปลา” มรดกข้าวชาวป่าชิง และพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ณ ศูนย์ข้าวชุมชนป่าชิง จะณะแบ่งสุข หมู่ที่ 1 ต.ป่าชิง อ.จะนะ จ.สงขลา (ทุ่งนาควนมิน บ้านป่าชิง) ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
ในการนี้ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา พร้อมด้วยคณะดำเนินงาน ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร รศ.ดร.สายฝน ไชยศรี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน นักวิจัยคณะเทคโนโลยีการเกษตร ดร.เบญจวรรณ ยันต์วิเศษภักดี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางสาวเกศสุพร มากสาขา หัวหน้าสำนักงานสถาบันวิจัยและพัฒนา นายรุสมัน ดะแซสาเมาะ หัวหน้างานงานบริหารการบริการวิชาการ นางสาวสุทธินี ช่วยมณี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ และ นางสาวรัตนาภรณ์ กาญจนเพ็ญ เจ้าหน้าที่โครงการ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแห่ข้าวเพื่อไปทำพิธีชุมนุมข้าวที่วัดเชิงคีรี พิธีส่งต่อวิถีชาวนาจากรุ่นสู่รุ่น กิจกรรมเปิดงาน“วันข้าวลูกปลา” มรดกข้าวชาวป่าชิง โดยมี นายมะหะหมัด โต๊ะยะลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าชิง เป็นประธานเปิดงาน และกิจกรรมเปิดศูนย์เรียนรู้ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ประธานในพิธีโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ซึ่งศูนย์เรียนรู้ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ที่ดำเนินการนี้มีการรวบรวมข้าวพื้นเมืองภาคใต้จำนวนกว่า 30 สายพันธุ์ ที่มาจากการสำรวจ เก็บรวบรวม และปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ โดย ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน นักวิจัยคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วิถีชาวนา พันธุ์ข้าวพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พันธุ์ข้าวลูกปลา” สำหรับใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นหลัง
นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกันฟื้นฟูพิธีกรรม “ชุมนุมข้าว” เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับอานิสงส์แห่งการทำความดีร่วมกัน ส่งผลให้มีกำลังใจ มีความสบายใจ มีความรักสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในชุมชน ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลป่าชิง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ วิทยาลัยชุมชนสงขลา โรงเรียนบ้านป่าชิง บุคลากร มรภ.สงขลา และชาวบ้านในชุมนุมป่าชิง