วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

TSU-MDC ร่วมสร้างพันธมิตรกลยุทธ์กับ EZY AIRLINES ขับเคลื่อนธุรกิจการบินในภาคใต้

03 เม.ย. 2024
34

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน คณบดีวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วย อาจารย์วิทยา ขาวขจร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม อาจารย์เสรี บุญรัตน์ ผู้ช่วยคณบดี คณาจารย์หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่ และนายกฤชณัท พรหมเสนะ หัวหน้าสำนักงานวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ได้หารือร่วมกับนายสหภูมิ ศรีสิงห์โฉม GM and Head of Flight Operation พร้อมด้วย นายอติชาติ ชูกำเนิด ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และนางสาวรัชรินทร์ จำปาพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ผู้ให้บริการด้านอากาศยานและเทคโนโลยีภายใต้ชื่อสายการบินอีซี่แอร์ไลน์ (Ezy Airlines) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการบินเส้นทางภาคใต้และระหว่างประเทศร่วมกัน ณ ศูนย์บริการวิชาการและการศึกษาต่อเนื่อง วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ กรุงเทพมหานคร

โดย นายสหภูมิ ศรีสิงห์โฉม ได้ให้ข้อมูลว่า สายการบินอีซี่แอร์ไลน์ เป็นสายการบินใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการประมาณไตรมาส 4 ปี 2567 โดยให้บริการเที่ยวบินระยะสั้นเชื่อมต่อเส้นทางเมืองสำคัญทางภาคใต้ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating License: AOL) ให้แก่สายการบินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการทั้งเที่ยวบินแบบประจำ (schedule flight) และแบบเช่าเหมาลำ (charter flight) ด้วยเครื่องบิน Cessna 208B Grand Caravan Ex รองรับผู้โดยสารได้ 12 ที่นั่ง โดยใช้ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางการบิน (hub) ซึ่งในช่วงแรกเปิดให้บริการ 4 เส้นทางบิน ได้แก่ หาดใหญ่ – เบตง  หาดใหญ่ – สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ – นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่ – นราธิวาส และจะขยายเส้นทางระหว่างประเทศไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในอนาคต โดยทางสายการบินอีซี่แอร์ไลน์ยินดีร่วมเป็นพันธมิตรกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจการบินกับวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ม.ทักษิณ

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน ได้กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ม.ทักษิณ กับสายการบินอีซี่แอร์ไลน์ ถือเป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับหลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่ ทั้งสามวิชาเอก ประกอบด้วย การจัดการการท่องเที่ยวและไมซ์ การจัดการการประกอบการทางสังคม และการจัดการโลจิสติกส์ ที่จะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2568 รวมถึงสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ที่มุ่งสร้างพันธมิตรกลยุทธ์ (strategic partners) เพื่อพัฒนางานบริการวิชาการและงานจัดการศึกษาด้วยกลยุทธ์น่านน้ำสีน้ำเงิน โดยวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา จะเริ่มต้นกิจกรรมร่วมกับสายการบินอีซี่แอร์ไลน์เกี่ยวกับงานสื่อสารการตลาดดิจิทัล จากนั้นจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นที่มุ่งส่งเสริมสมรรถนะความสามารถในลักษณะสร้างทักษะใหม่ (new skills) เพิ่มทักษะ (upskill) ปรับทักษะ (reskill) และผสมผสานทักษะ (cross-skill) ผ่านแพลตฟอร์ม TSU for All ให้กับทรัพยากรบุคคลของสายการบิน ตลอดจนทรัพยากรบุคคลที่สนใจงานด้านการบริการภาคพื้นและการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับกิจกรรมของสายการบินต่อไป