วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา จัดอบรม “จิตตปัญญาพัฒนาตน” ให้บุคลากรเติมเต็มความรู้ “สร้าง เสริม สุข” HAPPY University สู่การพัฒนาตน พัฒนางาน

       กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา จัดอบรม “จิตตปัญญาพัฒนาตน” ให้แก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เทียบเชิญวิทยากรถ่ายทอดความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติ “สร้าง เสริม สุข” HAPPY University มหาวิทยาลัยราชภัฏไปสู่สังคมสุขภาวะ เรียนรู้แนวคิดดีๆ ต่อยอดสู่การพัฒนาตน พัฒนางาน
       เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “จิตตปัญญาพัฒนาตน” รุ่นที่ 2 (สำหรับบุคลากร) ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา โดยมี อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม วิทยากรโดย ผศ.นิตยา ธัญญพานิชย์ วัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์และบุคลากรของ มรภ.สงขลา ได้เรียนรู้และพัฒนาตนให้มีสติในการดำเนินชีวิต สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 
       อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากการสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความต้องการที่จะได้รับการอบรมในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามต้องการเข้ารับการอบรมเพื่อเสริมสร้างความสุขทั้งในชีวิตประจำวันและในการทำงาน ดังนั้น กองพัฒนานักศึกษาจึงได้จัดอบรมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายในการ “สร้าง เสริม สุข” HAPPY University มหาวิทยาลัยราชภัฏไปสู่สังคมสุขภาวะ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านจิตใจให้บุคลากรและนักศึกษา มรภ.สงขลา ได้เรียนรู้แนวคิดดี ๆ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติจากวิทยากร ช่วยในการพัฒนาตนให้มีจิตใจที่สงบและมีสติในการดำเนินชีวิตมากขึ้น
        ด้าน ผศ.นิตยา ธัญญพานิชย์ วิทยากร กล่าวว่า ในการทำงานหรือแม้แต่การดำเนินชีวิตของคนเราย่อมต้องพบกับความรู้สึกทั้งด้านบวก ด้านลบ และ ความรู้สึกที่เป็นปกติ หากเราสามารถทำจิตใจของตนเองให้สงบนิ่ง แสดงด้านลบออกมาให้น้อยที่สุด ย่อมส่งผลดีทั้งต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ต้องพบเจอกับผู้คนจำนวนมาก อย่างเช่น กองพัฒนานักศึกษา สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน เป็นต้น ในแต่ละวันบุคลากรในหน่วยงานต้องให้การติดต่อสื่อสารกับผู้ที่มาติดต่อ ซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นปกติได้ ดังนั้น การเข้ารับการอบรมจิตตปัญญาพัฒนาตน จึงช่วยให้สามารถควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้มากขึ้น ก่อให้เกิดความสุขทั้งต่อตนเองและผู้ที่มาติดต่อราชการ ประการสำคัญ ช่วยให้ตนเองมีสติและสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้นด้วย