วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

อบจ.สงขลาหนุน อปท. ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ปชช.จัดตั้งศูนย์ยืม-เตียงนอนเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่มีฐานะยากจน มอบแก่ อปท. ในจ.สงขลา ร่วม 1000 เตียง

10 ต.ค. 2023
4593

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ส่งมอบเตียงนอนผู้ป่วย ในโครงการจัดตั้งศูนน์ยืม-คืนเตียงนอน เพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่องธนาคารพันเตียง ระยะที่ 2 มี นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่อบจ.สงขลา และนายสิรวิชญ์ บุญญามณี สจ.อบจ.สงขลาเขต 3 ร่วมส่งมอบ โดยมีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภา เจ้าหน้าที่และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ประกอบด้วย อบต.วัดขนุน อบต.ชิงโค อบต.ทำนบ อบต.เกาะยอ อบต.ท่าข้าม อบต.ทุ่งขมิ้น และอบต.จะโหนง ร่วมในการรับมอบ จากโครงการจัดตั้งศูนย์ยืม-คืนเตียงนอน เพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่อง ธนาคาร 1000 เตียง ระยะที่ 2

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

นายไพเจนกล่าวว่า ในปี 2564 อบจ.สงขลาได้ดำเนินโครงการ”ธนาคารสร้างสุขชุมชน” เป็นการจัดตั้งศูนย์ยืม-คืนเตียงนอน และที่นอนลม รถเข็นคนพิการ ให้กับโรงพยาบาลรัฐทั้ง 17 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ และประจำศูนย์สร้างสุขชุมชนนำร่องใน 5 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 อำเภอคือ อบต.คูหา อ.สะบ้าย้อย เทศบาลเมืองสะเดา อบต.ทับช้าง นาทวี เทศบาลตำบลระโนด อำเภอระโนดและเทศบาลเมืองเขาลูกช้าง อำเภอเมืองสงขลารวมจำนวนทั้งสิ้น 171 เตียง ต่อมาในปี 2565 อบจ.สงขลาได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ยืม-คืนเตียงนอนเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องธนาคาร 1,000 เตียงโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ยืม-คืนเตียงนอนปรับระดับได้ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในจังหวัดสงขลาที่มีฐานะยากจน และมีความจำเป็นต้องใช้เตียงนอนปรับระดับได้ สามารถเข้าถึงบริการยืม-คืนเตียงนอนปรับระดับได้ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อลดภาวะค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัวในการจัดซื้อเตียงนอนปรับระดับได้ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤตและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในจังหวัดสงขลาที่มีฐานะยากจน โดยมีการสนับสนุนเตียงให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ 5 เตียง และมีอปท. สมัครเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 130 แห่งซึ่งครั้งแรกส่งมอบระยะที่ 1 จำนวน 350 เตียง ครั้งนี้เป็นการส่งมอบระยะที่ 2 จำนวน 300 เตียง ซึ่งปัจจุบันมีเตียงอยู่ในระบบยืมคืนทั่วทั้งจังหวัดเกือบ 900 เตียง
ไพเจนกล่าวต่อว่า อบจ.สงขลามีการออกแบบระบบโปรแกรม”ธนาคารสร้างสุขชุมชน” เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลการยืม-คืนและการรับบริจาค การระบุโลเคชั่นของผู้ป่วยที่ยืมเตียง ตลอดจนการจองคิวยืมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงความสะดวกต่อเตียงในชุมชน และเมื่อหมดความจำเป็นต้องใช้งานและเพื่อที่อบจ.สงขลาจะได้นำข้อมูลความต้องการมาวางแผนสนับสนุนการช่วยเหลือและงบประมาณได้อย่างถูกต้องเหมาะสมได้ในปีถัดไป ทั้งนี้ในปี 2567 อบจ.สงขลาได้วางแนวทางการพัฒนาต่อยอดสนับสนุนเพิ่มตามข้อมูลการจองคิวในระบบโปรแกรม”ธนาคารสร้างสุขชุมชน” และในส่วนของการซ่อมบำรุง กรณีชำรุดทุกอบต. สามารถนำเตียงเข้าซ่อมบำรุงได้ที่ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชนทั้ง 3 ศูนย์คือวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัยการอาชีพนาทวี และเทศบาลเมืองสะเดา ที่อบจ.สงขลาได้ดำเนินการจัดตั้งไว้และซ่อมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้าน นายกริชชัย ภู่ฉุน นายอำเภอสิงหนครกล่าวว่า สำหรับโครงการรับมอบเตียงครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เนื่องจากว่าในพื้นที่เฉพาะอำเภอสิงหนคร มีผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง การที่อบจ.สงขลาจัดสรรส่วนนี้มาก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเตียงที่ได้มาเป็นเตียงระบบไฟฟ้าซึ่งจะเป็นความสะดวกในการปรับระดับทำให้ทำให้เป็นการลดภาระของผู้ดูแล และยังมีฟังก์ชั่นเพิ่มเติมในเรื่องของปรับระดับลุกนั่ง และมีช่องสำหรับการขับถ่ายของผู้ป่วย ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ในวันนี้ผมในนามตัวแทนของชาวสิงหนครจึงต้องขอขอบคุณท่านนายก และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของผู้สูงอายุและผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณค่า