วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา สัมมนาจัดทำหลักสูตรและชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงามเดินหน้าศูนย์อัจฉริยะเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ปั้น นศ. สู่ผู้ประกอบการ

      มรภ.สงขลา นำอาจารย์-เจ้าหน้าที่สัมมนาจัดทำหลักสูตรและชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม พร้อมศึกษาดูงานเกาะสมุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการธุรกิจ ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์อัจฉริยะเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ขับเคลื่อนนโยบายปั้นนักศึกษามีศักยภาพสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น
      สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการสัมมนาจัดทำหลักสูตรและชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม ภายใต้หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต และศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประกอบการและบริหารจัดการธุรกิจสุขภาพ สปาและความงาม (กิจกรรมที่ 1) ระหว่างวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมไอบิส สมุย บ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวเปิดโครงการ และ อาจารย์วันฉัตร จารุวรรณโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวรายงานโครงการ โดยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการสัมมนารวม 34 คน
       ผศ.นาถนเรศ กล่าวว่า การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เป็นโครงการที่เริ่มต้นการปฏิรูประบบการศึกษา โดยการกําหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการกําหนดเป้าหมาย และผลลัพธ์การดําเนินงานตามจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีศักยภาพในการตอบโจทย์และขับเคลื่อนทุกภาคส่วนจนถึงการพลิกโฉมประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
      ทั้งนี้ มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นจำนวน 41 แห่ง โดย มรภ.สงขลา เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้ 5 แห่ง ที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการจัดสรรเงินอุดหนุนและการส่งมอบผลการดำเนินงาน ภายใต้โปรแกรม 16 โครงการปฏิรูประบบ อววน. แผนงานย่อย “การพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูง” โครงการพัฒนาศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กับ มรภ.สงขลา เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 
       มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อการผลิตบัณฑิตเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ตลอดจนการจัดทำชุดวิชาสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม ภายใต้หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต พร้อมยกร่างระเบียบข้อบังคับว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในการผลิตหลักสูตรร่วมของมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้ในส่วนของ มรภ.สงขลา
       ด้าน อาจารย์วันฉัตร กล่าวว่า การพัฒนาประเทศตามเป้าหมายวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของประเทศที่มุ่งเน้นเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้เป็นแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศได้มีโอกาสพัฒนาเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งโมเดลนี้จะสำเร็จได้ต้องใช้แนวทางสานพลัง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนประชาชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ และความสามารถระดับสูงในสายวิชาการระดับมันสมองและวิชาชีพด้านต่าง ๆ 
       จากความสำคัญดังกล่าวสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียนจึงได้จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น โดยมีการสัมมนาในหัวข้อ “การจัดทำหลักสูตรแบบ SANDBOX การจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษา” โดยวิทยากร ดร.พรเพ็ญ แซ่อึ้ง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย และ นางสาวณัฐฐินันท์ ละลอกแก้ว นักพัฒนานโยบาย จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กิจกรรมวิพากษ์ร่างชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม โดยวิทยากร ดร.นิศารัตน์ ไทยทอง อาจารย์ศันสนีย์ วงศ์สวัสดิ์ และ อาจารย์ศักดิ์อรุณ แก้วเถื่อน อาจารย์สาขาวิชาการจัดการโรงแรม โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวและสหวิทยาการสมุย วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ร่วมวิพากษ์และให้ข้อมูลการพัฒนาแปรับปรุงชุดวิชาเพื่อสอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน สถานประกอบการ และชุมชนพื้นที่
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้เข้าศึกษาดูงานด้านการบริการสุขภาพ Wellness สปาและความงาม ณ โรงแรม Absolute Sanctuary และศึกษาดูงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวและสหวิทยาการสมุย ศูนย์การเรียนรู้การบริหารโรงแรมและท่องเที่ยวมุกสมุย วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นทางวิชาการด้านการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ CWIE ด้านบริหารธุรกิจ การจัดการ และการท่องเที่ยว