วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา จัดอบรมออกแบบและเลือกใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เสริมทักษะกลุ่มสาระภาษาไทย-คณิตฯ-วิทยาศาสตร์

คณะครุฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมออกแบบและเลือกใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียน กลุ่มสาระวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เสริมองค์ความรู้ด้านศาสตร์การสอน ช่วยครูพัฒนาความสามารถทางการศึกษา

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนกองทุนการศึกษา กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การออกแบบและเลือกใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มสาระวิชาภาษาไทย กลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์และกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2566 โดยมี ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด วัตถุประสงค์เพื่อให้ครูได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูความสามารถทางการศึกษา (re-skill) รวมทั้งเพื่อพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจ ทักษะในศาสตร์วิชาการทางการศึกษา และศาสตร์การสอนให้กับครูประจำการและศิษย์เก่า มีผู้เข้าร่วมเป็นครูผู้สอนในกลุ่มสาระวิชาภาษาไทย กลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ และกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 77 คน

ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนไทยทุกคนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ กล่าวคือ นักเรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การที่จะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นักเรียนจะต้องได้รับการการพัฒนา ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และโรงเรียนจะต้องเลือกใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้มีความเหมาะสม อันนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการสื่อสาร การแก้ปัญหา มีทักษะในการใช้ชีวิต ประกอบกับมีความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหา อย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม จึงนำมาสู่การจัดอบรมในครั้งนี้

ด้าน ดร.กมลทิพย์ สมบูรณ์พงษ์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ในนามผู้จัดทำโครงการฯ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนเสริมสร้างสมรรถนะและการพัฒนาทักษะในวิชาชีพที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง (Re-skill and Up-skill) ของครูประจำการในพื้นที่รับผิดชอบที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏและจากสถาบันการศึกษาอื่น ให้สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมุ่งหวังให้ผู้สอนได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูความสามารถทางการศึกษา ตลอดจนให้นักเรียนได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูความสามารถทางการเรียนรู้ และพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น ซึ่งทางคณะฯ คาดหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูความสามารถทางการศึกษาของครูจากทุกฝ่าย ตลอดจนโรงเรียนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ มรภ.สงขลา ในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจ ทักษะในศาสตร์วิชาการทางการศึกษาและศาสตร์การสอนให้กับครูประจำการและศิษย์เก่า