
วันนี้ 29 มีนาคม 2568 ณ โรงภาพยนตร์ EGV โลตัส สงขลา นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายพัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ และนางสาวสุพิชฌาย์ รัตนะ หัวหน้าศูนย์ข่าวเนชั่นทีวี ภาคใต้ ได้ร่วมกิจกรรมเสวนาวิพากษ์ผลงานหนังสั้นในการประกวดภาพยนตร์สั้นอัตลักษณ์ชายแดนใต้ ภายใต้แนวคิด “ชายแดนใต้มุมที่มองไม่เห็น: Discovering Unseen Beauty 2025” โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นและการพัฒนาในอนาคต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับข้อมูลและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและสามารถถ่ายทอดความงดงามของชายแดนใต้ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมต่อผ่านระบบ Video Conference กับนายกีรติ โชติรัตน์ ผู้ผลิตสื่ออิสระจาก Thai PBS และนายปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองในการพัฒนาภาพยนตร์สั้น โดยมีนายกรวิทย์ จันทร์พูล ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ






. ทางด้านคณะวิทยากรที่ร่วมเสวนา มองว่า นี่คือโอกาสที่สำคัญที่เปิดให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ที่สะท้อนถึงความงดงามและคุณค่าของพื้นที่ โดยไม่เพียงแต่เป็นการเผยแพร่เรื่องราวเชิงบวก แต่ยังช่วยทำลายภาพลักษณ์ความรุนแรงที่มีอยู่ในพื้นที่ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนในท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้ วิทยากรยังได้ชื่นชมผลงานหนังสั้นจากเยาวชนที่มีคุณภาพเกินความคาดหมาย พร้อมแนะนำให้เลือกใช้เรื่องราวที่ใกล้ตัวและลงพื้นที่จริงเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้การถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์มีความลึกซึ้งและเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโปรดักชั่นในการผลิตภาพยนตร์สั้น โดยแก่นของเรื่องจะต้องมีความสมบูรณ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ เนื้อหาความคิดสร้างสรรค์ และมีคุณค่าต่อสังคม สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนถึงความเป็นไทยภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ได้อย่างชัดเจน มีเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ครบองค์ประกอบ ทั้งในเรื่องของมุมกล้อง การลำดับภาพ เทคนิคการตัดต่อเสียง ตัวละคร เสียงบรรยาย ดนตรีประกอบ และบทบาทตัวละครความสมจริง


. สำหรับภาพยนตร์สั้นถือเป็นสื่อที่ทรงพลังในการสร้างการรับรู้และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างการรับรู้ในเชิงบวกให้กับทั้งคนในพื้นที่และคนภายนอก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้และมุ่งหวังให้สังคมพหุวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข แลจากการเสวนาและข้อเสนอแนะต่างๆ นี้ เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์สั้นสามารถสร้างความเข้าใจและยกระดับภาพลักษณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ดี และกิจกรรมนี้ควรได้รับการจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่สามารถพัฒนาผลงานและนำเสนอเรื่องราวที่ดีของชายแดนใต้ต่อไป











สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สงขลา