วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา เดินหน้า Green University ติว นศ.-บุคลากร จัดการขยะอินทรีย์ด้วยนวัตกรรม 3 R ลดของเสียให้เป็นศูนย์ Zero Waste

มรภ.สงขลา เดินหน้านโยบาย Green University จัดอบรมการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยนวัตกรรม 3 R ลดของเสียให้เป็นศูนย์ Zero Waste ให้ความรู้นักศึกษาและบุคลากรเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งเป็นน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ ดินอินทรีย์ มุ่งสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 กลุ่มราชภัฏภาคใต้

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 อาจารย์พิเชษฐ์ จันทวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิทยาเขต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยนวัตกรรม 3 R ลดของเสียให้เป็นศูนย์ Zero Waste ณ ห้องประชุมพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ชั้น 7 สำนักงานอธิการบดี มรภ.สงขลา เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยนวัตกรรม 3 R ลดของเสียให้เป็นศูนย์ Zero Waste เปลี่ยนขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือทิ้งเป็นน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และดินอินทรีย์ เกิดความคิดริเริ่มจากนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ นำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อต่อยอดสู่ความมั่นคง และเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ในการนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถบูรณาการตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวในการเข้าสู่การประเมิน UI Green Metric World University ในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับที่สูงขึ้น โดยมี อาจารย์อภิชาติ พันชูกลาง ดร.มุมตาส มีระมาน และ ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์ มรภ.สงขลา เป็นวิทยากร

อาจารย์พิเชษฐ์ กล่าวว่า มรภ.สงขลา ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและการพัฒนาคุณภาพชีวิต มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่และต่อเนื่องในระยะยาว จึงมีนโนบายดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว Green University นอกจากนั้น มรภ.สงขลา ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศไทยด้านการลดปริมาณขยะ และแนวคิดการนำนวัตกรรม 3R มาเปลี่ยนแปลงขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดโครงการอบรมในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ฯ ให้แก่บุคลากรและนักศึกษา โดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนและความเข้าใจในการร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อม ทรัพยากร และการจัดการขยะและของเสียอย่างยั่งยืน นำไปสู่การที่ มรภ.สงขลา ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ ในอนาคต

ด้าน นายชัยสิทธิ์ บุญรังศรี เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า ปัญหามูลฝอยในประเทศไทยมีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปริมาณมูลฝอยที่พบมีหลากหลายประเภท เช่น พลาสติก สารเคมี โฟม ซึ่งเป็นมูลฝอยที่กำจัดได้ยากและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จในด้านการจัดการมูลฝอยในระยะยาว คือการมุ่งเน้นการลดปริมาณมูลฝอยที่ต้นทางและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะการคัดแยกเอามูลฝอยที่สามารถนำมารีไซเคิลได้หรือการแยกมูลฝอยอันตรายออกจากมูลฝอยที่จะต้องนำไปกำจัด เพื่อช่วยลดปริมาณมูลฝอยที่นำไปสู่แหล่งกำจัดและลดผลกระทบจากการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม