
มรภ.สงขลา เปิดบ้านเป็นเจ้าภาพจัดประกวดผลงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระดับเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง เปิดเวที 8 มหาวิทยาลัยโชว์ศักยภาพ ต่อยอดองค์ความรู้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติงานจริง สุดปลื้ม นักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ดีเด่น คณะเทคโนโลยีการเกษตรคว้า 2 รางวัลชมเชย กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ฯ และด้านนวัตกรรม ฟากสาขาวิชาการจัดการคว้ารางวัลชมเชยด้านนักศึกษานานาชาติดีเด่น

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) โดยสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน จัดโครงการประกวดผลงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระดับเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานภาคใต้ตอนล่าง (CWIE) ประจำปี พ.ศ 2568 ณ ห้องประชุม นิวัต กลิ่นงาม ชั้น 6 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา โดยมี รศ.ดร.วีระชัย แสงฉาย รองอธิการบดีรักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ อาจารย์เอมอร อ่าวสกุล รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานภาคใต้ตอนล่าง เป็นประธานในพิธีเปิด
การประกวดในครั้งนี้มีนักศึกษาจาก 8 มหาวิทยาลัยในเครือข่าย เข้าร่วมประกวดผลงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แบ่งการนำเสนอการประกวดผลงาน CWIE ออกเป็น กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่น จำนวน 12 ผลงาน กลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ดีเด่น จำนวน 13 ผลงาน และด้านนวัตกรรมดีเด่น จำนวน 12 ผลงาน และ นักศึกษานานาชาติดีเด่น จำนวน 8 ผลงาน พร้อมมอบธงเจ้าภาพจัดการประกวดผลงานนักศึกษา CWIE ระดับเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง แก่มหาวิทยาลัยทักษิณในปีถัดไป




ทั้งนี้ นักศึกษาสหกิจศึกษาของ มรภ.สงขลา สามารถคว้ามาได้ 4 รางวัล ดังนี้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ดีเด่น จากผลงานเรื่อง “ปลดล็อกการศึกษาเด็กรัตภูมิรุ่นใหม่” จัดทำโดย นายวชิรวิชญ์ เภาทอง สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถานปฏิบัติงานสหกิจศึกษา : มูลนิธิอาสาสร้างสุข จ.สงขลา โดยมี ผศ.ณัฏฐาพงศ์ อภิโชติเดชาสกุล และ อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ศรีพรงาม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
รางวัลชมเชย กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่น จากผลงานเรื่อง “ผลของพาโคลบิวทราโซลร่วมกับโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟตต่อการออกดอกของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง” จัดทำโดย นายกฤษฏวัลค์ เพ็ชรจำรัส นายณัฐพงษ์ ร่มสุข และ นายธนกฤต พรหมฉ่ำ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถานปฏิบัติงานสหกิจศึกษา: สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
รางวัลชมเชย ด้านนวัตกรรมดีเด่น จากผลงานเรื่อง “จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงรูปแบบบอล” จัดทำโดย นายอนิวัต โดะโอย และ นายปรเมศวร์ หนูทอง สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถานปฏิบัติงานสหกิจศึกษา : สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 7 (ปัตตานี) จ.ยะลา โดยมี ผศ.ดร. ภัทรพร ภักดีฉนวน และ อาจารย์พงษ์ศักดิ์ มานสุริวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
รางวัลชมเชย ด้านนักศึกษานานาชาติดีเด่น จากผลงานเรื่อง “การพัฒนาระบบการจัดการสต็อกวัตถุดิบผ่าน Application Inventory Stock Tracker” จัดทำโดย นางสาวซูไรยา มะยีแต สาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ สถานปฏิบัติงานสหกิจศึกษา : Apple Bakery, Malacca, Malaysia โดยมี อาจารย์ธธิรา ศิริพันธ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
รศ.ดร.วีระชัย แสงฉาย กล่าวว่า มรภ.สงขลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมก้าวสู่โลกแห่งการทำงานอย่างมีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งในปัจจุบันและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในอนาคต โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับ
การทำงาน (CWIE) ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ต่อยอดองค์ความรู้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติ และเสริมสร้างทักษะวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม การจัดโครงการในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของสังคมและประเทศชาติ
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน














