มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) วิทยาเขตสตูล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนฐานศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่จังหวัดสตูล” ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน 2567 ณ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล โดยมี ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ รองอธิการบดีวิทยาเขตสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด และการอบรมรุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนฐานศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา โมเดล และเป็นการสร้างการรับรู้ทุ่งใหญ่สารภีโมเดลให้เป็นที่รู้จัก เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีเครือข่าย
การอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรร่วมถ่ายทอดความรู้ภาคบรรยายด้านการจัดการท่องเที่ยว และด้านการจัดการศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาโมเดล ประกอบด้วย ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ ดร.ทวีสินธุ์ ตั้งเซ่ง และวิทยากรปฏิบัติการอีก 4 คน เนื่องจากวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา ตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งบนฐานของการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรสมัยใหม่บนฐานศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาโมเดล ร่วมด้วยศาสตร์ด้านการจัดการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างและนำเอาหลักการท่องเที่ยวทางธรรมชาติมาต่อยอดกับการเกษตร เพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรและชุมชน ทำให้เกิดการยกระดับรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น การอบรมที่จัดขึ้นนี้ยังสอดรับกับพันธกิจของ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล ในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม บริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งบนฐานของการมีส่วนร่วม โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่ง มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชนทุ่งใหญ่สารภีโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้แก่ชุมชน มาเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งเป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ โคก หนอง นา โมเดล เป็นการจัดการพื้นที่ทางการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการออกแบบพื้นที่ให้มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ “โคก” พื้นที่สูง สำหรับปลูกป่า ปลูกพืชผัก ปลูกที่อยู่อาศัย “หนอง” สำหรับกักเก็บน้ำ ใช้ในการชลประทาน “นา” สำหรับทำนาและปลูกข้าว เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตร พร้อมกับบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียงตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเป็นแนวพระราชดำริหรือศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งการจัดการท่องเที่ยวบนฐานโคก หนอง นา โมเดล เป็นการเสริมสร้างโดยนำเอาหลักการท่องเที่ยวทางธรรมชาติมาผนวกกับการเกษตร เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรและชุมชน ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและศูนย์เรียนรู้ฯ ตลอดจนนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ.สงขลา กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน