
วิทยาลัยนวัตกรรมฯ มรภ.สงขลา ดึง 4 ชุมชนในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง สตูล ฝึกทำผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน บนฐานการรีไซเคิลและรียูส ปูทางสู่การสร้างธุรกิจครัวเรือน ควบคู่ฝึกทักษะออกแบบผลิตภัณฑ์ Eco-Friendly พร้อมวางแผนติดตามประเมินผลการเป็นชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน 2568 วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและฝึกปฏิบัติการการทำผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Eco-Friendly) นำสู่การสร้างธุรกิจของครัวเรือน/ชุมชน (ปีที่3) และผลิตสื่อการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน
กิจกรรมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่ชุมชนต้นแบบ 1 จังหวัด 1 ชุมชน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารกองพัฒนานักศึกษา และห้องปฏิบัติการแปรรูปพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ห้องประชุม มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล และ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไร้ดิน ฉิมเมล่อน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล โดยมี อาจารย์วันฉัตร จารุวรรณโน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและงบประมาณ เป็นประธานในพิธีเปิด
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกในชุมชน พื้นที่ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา พื้นที่ ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง พื้นที่ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล และ พื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ในการจัดทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาสินค้าของครัวเรือน พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการการทำผลิตภัณฑ์บนฐานการรีไซเคิลและการรียูส และฝึกทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ Eco-Friendly รวมถึงการวางแผนเพื่อติดตามประเมินผลการเป็นชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ด้านการคัดแยกขยะ การยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ การนำขยะหมุนเวียนใช้ใหม่ การประหยัดพลังงาน และอื่น ๆ เพื่อคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนที่ร่วมโครงการทั้ง 4 ชุมชน ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำนวัตกรรมที่ได้ไปขยายผลยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับที่มาของกิจกรรมดังกล่าว เกิดจากการสอบถามความต้องการของชุมชน พบว่าชุมชนต้องการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อนำบทเรียนที่ดีมาปรับใช้ รวมถึงต้องการเห็นตัวอย่างการใช้ 3R อย่างเป็นรูปธรรม และจะนำวิธีการทั้งด้านการลดขยะ การใช้ซ้ำและการรีไซเคิลไปปรับใช้ในชุมชน นอกจากนั้น ยังเป็นการยกระดับการวางแผนชุมชนเพื่อลดคาร์บอน การให้ความรู้เรื่องการประเมินคาร์บอนฟรุตปริ้นผลิตภัณฑ์ผ่านตัวอย่างวิสหากิจชุมชนหรือผู้ประกอบการที่สำเร็จแล้ว เป็นสิ่งที่ควรเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 13 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยังยืน ถือเป็นความท้าทายที่ มรภ.สงขลา ต้องดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างสมดุลระหว่างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน ใขณะเดียวกันการขับเคลื่อนอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา ชุมชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ องค์กรไม่หวังผลประโยชน์ (NGOs) และผู้สนใจอื่น ๆ ดังนั้น การพัฒนาเครือข่าย SDGs เชิงพื้นที่จึงต้องเกิดการเชื่อมต่อทั้งในระดับบนและระดับล่าง
ทั้งนี้ กิจกรรมสอดดังกล่าวคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน


















