
. วันที่ 8 กรกฏาคม 2568 นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนางปวีณ์ริศา เกิดสม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นายจรินศักดิ์ สงสุวรรณ นายอำเภอนาหม่อม และนางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่สวนธรรมพัฒนาจิต หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งขมิ้น อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา เพื่อกราบนมัสการพระครูปลัดกรวิก ปัญญาทีโป พร้อมถวายเทียนพรรษาและสังฆทาน เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา โดยได้นำสื่อมวลชนในพื้นที่ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ร่วมรับฟังบรรยายพิเศษเรื่อง “การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” โดยเฉพาะเรื่อง “ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองบ้านทุ่งโพธิ์” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.จรัสศรี นวลศรี คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
. นายจรินศักดิ์ สงสุวรรณ นายอำเภอนาหม่อม กล่าวว่า พื้นที่อำเภอนาหม่อม ถือเป็นแหล่งปลูกทุเรียนพื้นบ้านที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา โดยชาวบ้านในพื้นที่นิยมปลูกทุเรียนพื้นบ้านควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ยางพารา เงาะ ลองกอง และไม้ผลพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา ทุเรียนบ้านในพื้นที่มีชื่อเสียงในด้านรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ และมีความหลากหลายของสายพันธุ์สูง โดยเฉพาะพันธุ์ “นางงาม” และ “ทองทุ่งโพธิ์” ที่มีคุณลักษณะเด่นทั้งด้านรสชาติ เนื้อสัมผัส และกลิ่นหอม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสายพันธุ์เหล่านี้หลงเหลือเพียงต้นเดียวในแต่ละพันธุ์ และมีอายุมากแล้ว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านคุณภาพเหล่านี้ไว้



ทั้งนี้ ทุเรียนพื้นบ้าน หรือทุเรียนบ้านแต่ละต้น มักมีชื่อเรียกเฉพาะที่แตกต่างกัน โดยสะท้อนถึงลักษณะเด่นเฉพาะของผลในแต่ละต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ขนาด หนาม สีเนื้อ รสชาติ กลิ่น ขนาดเมล็ด หรือปริมาณน้ำในเนื้อ ชื่อเหล่านี้มักตั้งขึ้นภายในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อใช้สื่อสารและเข้าใจตรงกัน บางชื่ออาจตั้งตามทำเลที่ปลูก สภาพแวดล้อม อารมณ์ความรู้สึก หรือเรื่องราวเฉพาะของต้นนั้น ๆ ซึ่งบางชื่อสืบทอดกันมาหลายรุ่น เช่น “ทองแดง” “ไข่ควาย” หรือ “นางงาม” ซึ่งนอกจากจะเป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และความผูกพันระหว่างผู้คนกับพืชพันธุ์ในวิถีชีวิตชนบทอีกด้วย








โอกาสนี้ นางปวีณ์ริศา เกิดสม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะ ได้นำต้นทุเรียนจำนวน 5 ต้น มาปลูกบริเวณสวนธรรมพัฒนาจิต เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ และเพื่อยกระดับคุณภาพของทุเรียนพันธุ์นางงามให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยสวนธรรมฯ มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียนพื้นเมืองเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมสาธิตการแปรรูปทุเรียนพื้นบ้าน เช่น การกวน การเชื่อม การแกงส้ม และการทำข้าวเหนียวทุเรียน ซึ่งล้วนได้รับคำชื่นชมว่ามีรสชาติอร่อยและกลมกล่อม เป็นการเพิ่มมูลค่าและต่อยอดจากผลผลิตในท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ



























ศิริลักษณ์ ปชส.สงขลา /ข่าว
ยัวร์นิวส์ /ภาพ