วันเสาร์, 30 พฤศจิกายน 2567

นิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ผงาดเวทีสายฟ้าน้อย ’65 คว้ารางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทวิถีชุมชนดีเด่น จากผลงาน “ควายน้ำทะเลน้อยฯ” พร้อมรางวัลชมเชย

นักศึกษานิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ผงาดเวทีประกวดสารคดีเชิงข่าววิทยุ-โทรทัศน์ ครั้งที่ 17 สายฟ้าน้อย ’65 คว้ารางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภท วิถีชุมชนดีเด่น จากผลงาน “ควายน้ำทะเลน้อย มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย” พร้อมรางวัลชมเชยประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง จากผลงาน “บาคาร่า เกมพนันออนไลน์” รับเงินรางวัลรวม 25,000 บาท และเป็นสถาบันที่มีทีมเข้ารอบสุดท้ายมากที่สุด

เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานประกาศผลการตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อ สนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการผลิตข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทวิทยุกระจายและสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ พัฒนาทักษะเตรียมความพร้อมเข้าสู่วิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 56 เรื่อง ประเภทสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ 43 เรื่อง จาก 16 สถาบันการศึกษา และประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง จำนวน 13 เรื่อง จาก 3 สถาบันการศึกษา ผลปรากฏว่าทีมนักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายและคว้ารางวัลมาได้ ดังนี้

                1. รางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทวิถีชุมชนดีเด่น  ผลงานเรื่อง “ควายน้ำทะเลน้อย มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย” โดยทีม GKNP  ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 20,000 บาท  และผลงานเรื่อง “ วิถีชาวเลเมืองลุงจับกุ้งสามน้ำ” ได้รับประกาศเกียรติบัตร ผลงานเข้ารอบสุดท้าย

                2. รางวัลชมเชย ประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง จากผลงานเรื่อง “บาคาร่า เกมพนันออนไลน์” ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 5,000 ส่วนอีกสองผลงานคือเรื่อง “วิกฤตการณ์ราคายาเสพติด ถูกกว่าข้าวกล่อง” และ “Social Addiction โรคเสพติดโซเชียล” ได้รับประกาศเกียรติบัตรผลงานเข้ารอบสุดท้าย

                สำหรับรางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทสิ่งแวดล้อมดีเด่น ไม่มีผลงานเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น และไม่มีผลเรื่องใดได้รับรางวัลชมเชย  แต่มีผลงานของนักศึกษา มรภ.สงขลา 3 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้รับคำชื่นชมจากทางคณะกรรมการ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “นกปากห่าง ตัวแปรใหม่แห่งระบบนิเวศ” ผลงานเรื่อง “เต่าหกเหลืองสัตว์มหัศจรรย์ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ”  และ ผลงานเรื่อง ชุมชนต้นแบบ ‘อ่างทองปลอดขยะ’ ได้รับประกาศเกียรติบัตรผลงานเข้ารอบสุดท้าย ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลงานเรื่องใดได้รับรางวัล แต่คณะกรรมการตัดสินได้แสดงความชื่นชมในความตั้งใจของนักศึกษาผู้ผลิตผลงานที่ให้ความสนใจและตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและชุมชน เพียงแต่ผลงานที่นำเสนอยังขาดความรอบด้านของสารคดีเชิงข่าวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทีมนิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ยังคงรักษาศักยภาพในการคว้ารางวัลและมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง