วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

ครุฯ มรภ.สงขลา จัดโครงการมหา’ลัยพี่เลี้ยง พัฒนาครูสู่ผู้เรียนช่วยเด็กให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ยกระดับคุณภาพกลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้

           คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา จัดโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยมีมหา’ลัยเป็นพี่เลี้ยง อบรมพัฒนานวัตกรรมสู่การวิจัย ช่วยผู้เรียนอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น หวังยกระดับคุณภาพกลุ่มนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้

            ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ ภูวัชร์วรานนท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า คณะครุศาสตร์จัดโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมี มรภ.สงขลา เป็นพี่เลี้ยง : การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู (PLC) เพื่อพัฒนาครูสู่การพัฒนาผู้เรียน จ.สตูล กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนานวัตกรรมสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้อ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุม มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล วัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง โดยทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน หน่วยงานในพื้นที่และเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี ไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเป้าหมายให้เกิดความเข้มแข็งและพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามบริบทของชุมชนโดยการพัฒนาคุณภาพครูผู้สอนภาษาไทยและคณิตศาสตร์ โดยกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อให้ มรภ.สงขลา มีส่วนร่วมในการพัฒนาครูสู่ผู้เรียน แก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็นของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และเพื่อให้โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน และสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมส่งเสริมการยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาไทยและคณิตศาสตร์โดยกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)

            ทั้งนี้ จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มรภ.สงขลา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างชุมชนทางการเรียนรู้ PLC สู่สถานศึกษา ที่เน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา ในกลุ่มสาระภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และกิจกรรมบูรณาการวิชาการสู่วิชาชีพ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 10 โรงเรียน การดำเนินโครงการส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านของโรงเรียน คือ โรงเรียนมีการวางแผนในการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC อย่างเป็นระบบ สามารถนำกระบวนการ PLC ไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านครู คือ ครูมีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการ PLC  มีการจับคู่ Buddy เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด หาวิธีการแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านนักเรียน คือ นักเรียนมีความกระตือรือร้น มีปฏิสัมพันธ์กับครูในชั้นเรียนมากขึ้น นักเรียนมีความสนใจ อยากรู้อยากเรียน มีความสุขสนุกสนานไปกับบทเรียน กิจกรรม และสื่อที่ครูผู้สอน

             นอกจากนั้น การดำเนินโครงการสามารถยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนด้านภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษของนักเรียนสูงขึ้น การดำเนินโครงการได้รับความพึงพอใจจากโรงเรียกลุ่มเป้าหมายอยู่ในระดับดี จากผลการดำเนินโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาต่อยอด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มรภ.สงขลา จึงนำแนวคิดการนำกระบวนการสร้างชุมชนแห่งวิชาชีพ (PLC) มาขับเคลื่อนกระบวนการสร้างชุมชนทางการเรียนรู้ PLC สู่สถานศึกษาที่เน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษากลุ่มนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่ต้องการได้รับการพัฒนาการอ่าน การเขียน และการคิดเลข จึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ที่กิจกรรมบูรณาการวิชาการสู่วิชาชีพ โดยได้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิม 10 โรงเรียน เป็น 15 โรงเรียน ให้สามารถแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอันจะนำไปสู่ผลการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านโรงเรียน ผู้บริหาร คุณครู และนักเรียนตามบริบทความต้องการและปัญหาการจัดการเรียนรู้ของแต่ละโรงเรียนให้มีระบบการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป