
วันนี้ 25 เมษายน พ.ศ.2568 คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน(กขป.)เขต 12 จัดประชุมคณะกรรมการและนำเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมดาวเรือง 1 ชั้น 5 อาคารอุดมสิริเวชรักษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาชี้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงทั้งจากบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชน เด็กเล็กในพื้นที่มีพัฒนาการล่าช้าและโภชนาการไม่สมวัย ครอบครัวคนใต้ล่างเริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ชนบทกลายเป็นเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะโลกเดือดและสังคมสูงวัย คุกคามสุขภาวะประชาชน ที่จำเป็นต้องสร้างรากฐานครอบครัวเข้มแข็งรองรับความเสี่ยง

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 12 กล่าวแนะนำการดำเนินงานว่า กขป.มีการทำงานในลักษณะเครือข่าย ร่วมเรียนรู้เติมเต็ม ต่อยอด ขยายผล โดยใช้พื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัด 7จังหวัดภาคใต้ตอนล่างเป็นฐานในการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม ของเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน และมีการระดมสรรพกำลัง ทั้งองค์ความรู้ ความคิด และทรัพยากรในการขับเคลื่อนร่วมกันก่อนจะนำไปปฏิบัติภายใต้กลไกหรือกฎระเบียบตามภารกิจความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน“การรองรับความเสี่ยงดังกล่าว เรามีฐานทุนทางวัฒนธรรม ทั้งวิถีพุทธ วิถีอิสลาม วิถีไทยจีน มีภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มีจิตอาสาที่มีจิตสาธารณะที่เข้ามาเสริมหนุนการทำงานของภาครัฐที่ใช้จิตบริการสาธารณะอย่างเต็มกำลัง ภายใต้การปรับใช้เทคโนโลยีและนวตกรรมมาสนับสนุนการทำงานจนกลายเป็นจุดแข็งสำคัญ” นพ.สุวัฒน์กล่าวในการประชุม
นอกจากมีการเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการลงนามความร่วมมือในการนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปดำเนินการแล้ว แกนนำประเด็นบุหรี่และปัจจัยเสี่ยง ยังนำเสนอปัญหาสำคัญ รูปธรรมพื้นที่ และข้อเสนอเชิงนโยบาย ชูตัวอย่าง เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น ภาคประชาชน จ.ปัตตานี ร่วมมือกันระดับจังหวัดในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่จนประสบความสำเร็จระดับจังหวัด ประเด็นแม่และเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 12 นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบบริการเชิงรุกจนสามารถลดการสูญเสียชีวิตมารดาและบุตรขณะคลอด ประเด็นสุขภาวะกลุ่มเปราะบางทางสังคม นำเสนองานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลาและเครือข่าย ที่มีการพัฒนากลไกลศูนย์บริการเติมสุขในการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ์พื้นฐานกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงการทำแผนรองรับสังคมสูงวัย จ.ตรังและการใช้กลทางศาสนาและชุมชนดังตัวอย่างของมัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่าดูแลเด็กเล็กที่ด้อยโอกาสกว่า 300 คน และประเด็นเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ Node flagship ยะลายกตัวอย่างการส่งเสริมผักปลอดภัย สร้างนวตกรรมผงผักเพื่อส่งเสริมการบริโภคผักในเด็กเล็กอีกด้วย.















